
ไทฟอน (Typhon)
และนางงูอคิดน่า (Echidna)
อสูรกายไทฟอนตนนี้ ร้ายกาจยิ่งกว่าสิ่งใดที่เคยมี ในตำราของอีดิธ แฮมิลตัน (Edith Hamilton) บรรยายลักษณะของมันไว้ว่า
อสูรกายพ่นไฟมีร้อยเศียร
ผุดขึ้นสู้กับปวงเทพ
มัจจุราชส่งเสียงหวีดหวิวจากปากอันน่ากลัว
นัยน์ตาปลาบแลบเป็นเพลิงกัลป์
ไทฟอนนั้นร้ายกาจยิ่งนัก มันสามารถพ่นไฟและลาวาออกมาได้ มีพิษร้ายแรง มีอำนาจควบคุมลมพายุ ว่ากันว่ามันมีลักษณะคล้ายมังกรร้อยหัว แม้เหล่าทวยเทพจะรวมพลังกัน ก็ไม่สามารถปราบมันลงได้ จึงได้แต่หนีกระเจิง แม้แต่เทพซุส ก็ยังยอมศิโรราบ แปลงร่างเป็นแกะหลบหนีไป
แต่เมื่อไทฟอนได้ขึ้นมาถึงสวรรค์ พร้อมป่าวประกาศให้ปวงเทพยอมศิโรราบแก่ตน ซุสละอายใจยิ่งนัก ที่เป็นถึงปวงเทพสูงสุด แต่กลับต้องยอมศิโรราบให้อสูรกายอันน่ารังเกียจ จึงได้รวบรวมความกล้า เข้าประจันหน้ากับไทฟอนอีกครา
เหล่าทวยเทพประจันหน้ากับไทฟอนเป็นเวลานานยิ่ง จนแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตได้หลงเหลืออยู่
และในที่สุดแล้ว ไทฟอนก็คิดจะปิดบัญชีสักที โดยการยกภูเขาไฟมหึมาโยนทับเหล่าทวยเทพทั้งหมดไปพร้อมกัน
แต่ซุส ได้มองเห็นโอกาสสุดท้าย ไทฟอนได้เปิดช่องว่างเสียแล้ว เมื่อไทฟอนยกภูเขาไฟเอตนา (Etna) ไว้เหนือหัว ซุสใช้โอกาสนี้ ฟาดอสุนีบาตอันไม่เคยหลับไหลลงใส่ไทฟอนอย่างเต็มเปา
ไทฟอนแม้จะไม่ตาย แต่ก็หมดฤทธิ์สิ้นท่าเสียแล้ว เศษซากภูเขาไฟเอตนาได้ทับร่างของไทฟอนเอาไว้ มันจึงไปไหนไม่ได้ ได้แต่ปลดปล่อยลาวาปะทุออกมาเท่านั้น จึงเป็นภูเขาไฟเอตนา ที่เกาะซิซิลี มาจนถึงทุกวันนี้
ทว่าทายาทของไทฟอน ยังอยู่กับนางอีคิดน่า รอวันที่จะได้สำแดงฤทธิ์ต่อจากนี้
และคำว่า Typhoon หรือ ไต้ฝุ่น ก็มีรากศัพท์มาจาก typhon ที่มีอำนาจในการควบคุมลมพายุ
หากเทพซุสมิรวบรวมความกล้าเพื่อจะตัดสินกับไทฟอนในครานั้น ประวัติศาสตร์คงจะเปลี่ยนไป
ดังนั้น “ความกล้า” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องธำรงไว้ แม้ยามสิ้นหวังอันประมาณมิได้
ขอจบมหาศึกของเหล่าทวยเทพเพียงเท่านี้ เรื่องเล่าต่อจากนี้ จะเกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์ และ โพรมีธีอุส จะกลับมามีบทบาทอีกครั้ง ในฐานะผู้โอบอุ้มมวลมนุษย์